วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

ประวัติไมเคิลแอนเจโล หรือ มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี




ไมเคิลแอนเจโล หรือ มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี
( Michelangelo Buonarroti , 1475 – 1564 )
ไมเคิลแอนเจโล คือ ประติมากร , จิตรกร , สถาปนิก และกวีผู้ยิ่งใหญ่ในยุคทองของสมัยเรอนาซอง เขาถือกำเนิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1475 ณ หมู่บ้านคาเปรเซ่ เมืองคาสเซ็นติโน รัฐฟลอเรนซ์ บิดาเป็นข้าราชการและสืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ดีเก่าแก่ของฟลอเรนซ์ เขาตั้งความหวังไว้ว่า คงจะมีสักวันใดวันหนึ่งที่คนในตระกูลบูโอนาร์โรตีจะต้องมีโอกาสขึ้นมากอบกู้ฟื้นฟูฐานะอันรุ่งเรืองในอดีตให้กลับคืน ด้วยเหตุนี้ จึงทุ่มเทความหวังฝากไว้กับหนูน้อยไมเคิลแอนเจโล แต่ทว่าไมเคิลแอนเจโลกลับทุ่มเทความรักและความสนใจพร้อมกับแสดงเจตนารมณ์ต้องการศึกษาศิลปะ จึงเท่ากับขัดความประสงค์ของบิดาอย่างรุนแรง แต่ด้วยความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของหนูน้อยไมเคิลแอนเจโล ทำให้บิดาไม่สามารถขัดขวางได้ ดังนั้นในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1488 เขามีอายุได้ 13 ปี ก็ได้มอบตัวเป็นศิษย์เข้าศึกษาการวาดภาพกับโดมิเนโก กีย์ลันไดโอ จิตรกรคนสำคัญของฟลอเรนซ์
การเรียนการศึกษาศิลปะมีหลักสูตรการเรียนการปฏิบัติใช้เวลาทั้งหมดสามปี เริ่มต้นจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปก่อน การเรียนก็เป็นไปในทำนองลูกมือช่วยทำงานสารพัดให้กับครู นับตั้งแต่ช่วยบดสี ผสมสี ล้างพู่กัน หรือการเตรียมพื้นผนังปูนสำหรับวาดภาพระบายสีแบบเฟรสโก้ ครั้นพอชำนาญจึงเขยิบขึ้นมาหัดร่างภาพและระบายสีตามลำดับ ผลดีจากประสบการณ์ครั้งนี้ได้ก่อประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่เขาในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติวิธีการระบายสีแบบเฟรสโก้
ไมเคิลแอนเจโลศึกษายังไม่ทันจบหลักสูตร ก็ลาออกเข้าไปเรียนวิชาประติมากรรมที่เขารักและหลงใหลมากกว่า สถานศึกษาแห่งใหม่ตั้งอยู่ในอุทยานประติมากรรมของเจ้าชายโลเร็นโซ ณ สถานศึกษาแห่งใหม่ ไมเคิลแอนเจโลศึกษาวิชาวาดเส้นอย่างหนักจากแบบประติมากรรมชิ้นเยี่ยมของกรีกและโรมัน ซึ่งเจ้าชายโลเร็นโซทรงเสาะแสวงหามาสะสมไว้ด้วยกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังฝึกหัดปั้นและแกะสลักจากแบบดังกล่าวแล้วยังศึกษาจากแบบคนจริงด้วย ไมเคิลแอนเจโลได้แสดงความสามารถพิเศษส่วนตนทางด้านศิลปะได้ตั้งแต่วัยเยาว์ เขาสามารถสร้างผลงานให้เจ้าชายโลเร็นโซเกิดความนิยมการศึกษาของไมเคิลแอนเจโล มิได้เพียงแต่ศึกษาวิชาประติมากรรมเท่านั้น หากเขายังได้ศึกษาดนตรี กวีนิพนธ์ ปรัชญา ตลอดจนวิทยาการต่างๆเพราะสภาพบรรยากาศในราชสำนักของเจ้าชายโลเร็นโซอบอวนด้วยกลิ่นอายทางวิชาการจากเหล่ากวี ศิลปิน และปัญญาชนทางลัทธิมนุษยนิยมที่แวดล้อมเจ้าชายโลเร็นโซ
ในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1494 นับเป็นวันวิกฤติของฟลอเร็นได้วันหนึ่ง เมื่อเจ้าชายโลเร็นโซทรงสิ้นพระชนม์ลง พร้อมกันนั้นได้เกิดความวุ่นวาย ชุลมุน ก่อการจลาจลจากชาวเมือง มีผลสืบเนื่องจากการเทศนาปลุกเร้าความคิดทั้งด้านการเมืองและศาสนาของพระในนิกายโดมินิกันองค์หนึ่งชื่อ สโวนาโรล่า ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของตระกูลเมดิชี่ จากนั้นรัฐบาลภายใต้การบัญชาการของพระสโวนาโรลาได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองแทน โดยมีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มลัทธิมนุษยธรรมนิยมโดยตรง ไมเคิลแอนเจโลจึงจำต้องหลบหนีออกจากเมือง ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่เมืองโบโลญา รับจ้างสลักรูปประดับในโบสถ์วัดซานเปรโตนีโอ
วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1496 ภายหลังจากวัดซานเปรโตนีโอเสร็จเรียบร้อย เขาก็ออกเดินทางจากโบโลญามุ่งหน้าสู่กรุงโรม เพื่อรับจ้างสลักรูปหินอ่อนประดับในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ เขาเริ่มงานชิ้นแรกเป็นรูปของเทพแบคคุส เทพเจ้าแห่งเมรัยและความสนุกสนานรื่นเริงตามเทพนิยายของกรีก เป็นประติมากรรมที่แกะสลักจากหินอ่อน มีขนาดความสูงเท่ากับคนจริง พระคาร์ดินาล วิลลิเอร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสำนักวาติกัน ได้มีโอกาสเห็นผลงานของไมเคิลแอนเจโลจึงเกิดความสนใจ ต่อมาได้ติดต่อให้เขารับสร้างงานให้ชิ้นหนึ่ง สร้างเป็นรูปแม่พระประทับบนพระแท่นหิน มีร่างของพระบุตรหรือพระเยซูวางพาดอยู่บนหน้าตัก สัญญาว่าจ้างได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 2498 ประติมากรรมรูปนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ ปิเอต้า ” ( Pieta )
ในค.ศ. 1501 เมื่อสลักรูปหินปิเอต้าเสร็จ ได้เดินทางกลับฟลอเรนซ์ทันที สาเหตุที่รีบร้อนเดินทางกลับคงเป็นเพราะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการปกครองเมืองฟลอเรนซ์ ให้เขาสามารถนำเอาหินอ่อนขนาดมหึมาซึ่งจมดินอยู่เป็นเวลานานถึง 46 ปี มาสกัดรูปตามที่เขาต้องการ เมื่อเขากลับมาถึงฟลอเรนซ์ ได้รีบเร่งร่างแผนการนำเอาดาวิดหรือเดวิดวีรบุรุษชาวยิวในพระคัมภีร์เดิมของคริสตศาสนามาสร้าง ซึ่งวีรบุรุษชาวยิวผู้นี้โดนาเต็ลโลและเวอร์รอคคิโอ ประติมากรเอกของฟลอเรนซ์เคยสร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว มีการเล่ากันว่า ในขณะที่ไมเคิลแอนเจโลกำลังร่างแผนงานสลักรูปดาวิดอยู่นั้น เขาศึกษาภาพเปลือยจากประติมากรรมจากกรีกและโรมันอย่างหนัก นอกจากนี้ยังศึกษากายวิภาคจากซากศพคนจริง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลออกัสติเนียน
รูปดาวิดสลักสำเร็จเรียบร้อยในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1504 ใช้เวลาร่วมทั้งหมด 4 ปี ต่อจากนั้นเขาก็มีงานที่มีผู้ว่าจ้างให้ทำอยู่หลายรายการ ดังเช่นรูปสลักประติมากรรมภาพแบน เป็นรูปแม่พระมาดอนนากับสาวก 12 องค์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้เป็นที่รู้จักกันในระยะแรก เพื่อนำไปติดตั้งที่โบสถ์ในวัดประจำเมืองฟลอเรนซ์ แต่เนื่องจากเขามีงานมากจนล้นมือจึงสลักรูปสาวก 12 องค์เสร็จเพียงรูปเซนต์แมทธิวเพียงองค์เดียว ในขณะเดียวกันนี้เอง ไมเคิลแอนเจโลเริ่มสนใจงานด้านจิตรกรรมบ้าง ดังจะเห็นได้จากที่เขารับวาดภาพเกี่ยวกับครอบครัวของพระเยซูในรูปวงกลม หรือที่เรียกเป็นภาษาอิตาเลียนว่า “ โดนิทอนโด” ( Donitondo )
ในช่วงระยะเวลานี้ เป็นระยะเวลาที่เลโอนาร์โดลี้ภัยการเมืองมาพำนักอยู่ในฟลอเรนซ์ ศิลปินเอกทั้งสองต่างเป็นผู้มีชื่อเสียงและความสามารถสูงด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างว่าตนเองมีความสามารถสูงกว่า ทำให้เกิดมีการปะทะกันด้วยคารมบ่อยครั้ง ทางคณะกรรมการปกครองเมืองเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญให้ทั้งเลโอนาร์โดกับไมเคิลแอนเจโลมาวาดภาพประดับบนฝาผนังแข่งกัน โดยกำหนดให้เอาฝาผนังในศาลากลางแห่งใหม่ที่พระราชวังเวคดิโอเป็นสนามประลองฝีมือ เนื้อหาที่จะใช้วาดกำหนดให้เป็นเรื่องของสงคราม เลโอนาร์โดเลือกเอาเรื่องราว “ การรบที่แอนกิอารี่ ” ส่วนไมเคิลแอนเจโลเลือกเอาเรื่องราว “ การรบที่คาสชินา ” ซึ่งเขาได้ลงมือร่างภาพ ( Cartoon ) ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1504 แต่อย่างไรก็ตามศิลปินเอกทั้งสองท่านต่างก็ทำงานไม่เสร็จด้วยกันทั้งคู่ ต้องมีอันแยกย้ายไปทำงานอื่น เลโอนาร์โดกลับไปรับราชการในราชสำนักมิลาน ไมเคิลแอนเจโลต้องรีบเดินทางไปกรุงโรมเพื่อทำงานให้สันตะปาปา
ผลงานที่เขาเหลือไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับผลงานแห่งนี้คือ ภาพร่างรูปคนด้วยดินสอบนแผ่นกระดาษ เป็นรูปคนและสัตว์ประมาณ 500 ภาพ ซึ่งผลงานชุดนี้ก็ได้กลายเป็นขุมตำราวิชาการศิลปะอันล้ำค่าให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษากัน เขาคือผู้ยกระดับฐานะของงานวาดเส้น ( Drawing ) ซึ่งในอดีตถูกมองว่าเป็นผลงานอันต่ำต้อย เป็นแค่เพียงบันไดหรือทางผ่านของจิตรกรรมหรือประติมากรรมเท่านั้น เขาได้สร้างให้มันมีคุณค่าสูงทัดเทียมกับจิตรกรรมและประติมากรรมอีกด้วย
ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1505 สันตะปาปาจูลิอุสหรือจูเลียสที่ 2 จึงได้มีสาส์นเชื้อเชิญให้เขาเดินทางเข้ากรุงโรม พระองค์ทรงมอบหมายงานการออกแบบก่อสร้างสุสานส่วนพระองค์ เมื่อไมเคิลแอนเจโลได้รับสาส์นก็รีบเดินทางเข้าเฝ้าองค์สันตะปาปา เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ในการออกแบบก่อสร้างสุสานส่วนพระองค์ เขาได้เสนอโครงงานอย่างใหญ่โตมโหฬาร กำหนดให้สุสานมีรูปร่างคล้ายวิหารขนาดเล็ก ติดตั้งอยู่ภายในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ มีรูปสลักหินอ่อนเป็นรูปคนประดับสุสาน 40 รูป เมื่อองค์สันตะปาปาได้ทราบถึงโครงงานทั้งหมดก็ทรงอนุมัติทันที แต่ว่าในขณะที่ไมเคิลแอนเจโลกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น ได้เกิดปัญหาจนก่อเป็นอุปสรรคหลายอย่าง อาทิเช่น แม่น้ำไทเบอร์ซึ่งไหลผ่านใจกลางกรุงโรม ในฤดูน้ำหลากมีมากจนเกิดเป็นอุทกภัยร้ายแรง เป็นอุปสรรคขัดขวางการขนส่งลำเลียงหินอ่อนชนิดดีที่สั่งซื้อมาจากเมืองคาร์ราร่า ฐานะการเงินขององค์สันตะปาปาเริ่มฝืดเคือง จึงต้องลดภาระตัดงบประมาณในด้านอื่นๆลง เป็นเหตุให้ไมเคิลแอนเจโลกับองค์สันตะปาปามีปากเสียงกันบ่อยครั้ง
ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1506 ไมเคิลแอนเจโลจึงจำต้องตัดสินใจละทิ้งงานหลบหนีออกจากโรม สุสานขององค์สันตะปาปายังคงทิ้งค้างไว้ โครงงานที่ไมเคิลแอนเจโลร่างไว้เสร็จเพียงบางส่วน ประติมากรรมที่ตั้งใจจะสลักถึง 40 รูปนั้น สำเร็งเพียงรูปเดียว คือ รูปโมเสสกับงานที่สลักค้างไว้อีก 2 รูป แม้ว่าสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 จะทรงมีอำนาจในการลงโทษไมเคิลแอนเจโลได้อย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงยอมใช้อำนาจนี้ สันนิษฐานกันว่า คงเป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นความสามารถของเขาอยู่ พอลุล่วงฤดูใบไม้ผลิทรงโปรดประทานอภัยโทษและเรียกให้ไมเคิลแอนเจโลเดินทางกลับเข้ากรุงโรม แม้ว่าสุสานจะยังไม่เสร็จองค์สันตะปาปาก็ไม่ติดพระทัยให้ทำต่อ แต่กลับเสนองานวาดภาพประดับเพดานในหอสวดมนต์ซิสติเน่แทน
หอสวดมนต์ซิสติเน่หรือซิสทีน ( Sistine Chapel ) เป็นอาคารขนาดย่อมอยู่ภายในพระราชวังวาติกัน สร้างขึ้นในสมัยสันตะปาปาซิกตุสที่ 4 ( Sixtus IV ) และได้ชื่อตามนามพระองค์ จัดให้มีการฝึกหัดและฝึกซ้อมร้องเพลงในหอสวดมนต์ซิสติเน่เป็นประจำ คณะร้องเพลงสวดนี้ชื่อว่า “ คาเปลลา ซิกติน่า ” ( Capella Sixtena ) เป็นวงที่รับหน้าที่ขับร้องประจำในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ และยังใช้เป็นสถานที่สำหรับองค์สันตะปาปาซิกตุสที่ 4 ประกอบศาสนากิจส่วนพระองค์ ที่ฝาผนังด้านข้างทั้งสองข้างตกแต่งด้วยจิตรกรรมปูนเปียก ( Fresco ) เขาใช้เวลาทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 4 ปี เนรมิตโลกแห่งจิตนาการขึ้น ผลงานได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1512
ไมเคิลแอนเจนโลมีโอกาสวาดภาพบนเพดานในซีสติเน่ตามความปรารถนาของสันตะปาปาซึ่งเขาได้สะท้อนความคิดตามลัทธิปรัชญานีโอ-เพลโตนิคและความศรัทธาของคริสตศาสนิกชนที่ดีโดยแสดงถึงความเป็นจริงทั้งในสภาพชีวิตธรรมดาและอุดมคติตามหลักปรัชญาเพลโตที่เชื่อว่าความงามมาตรฐานอยู่แต่ในอุดมการณ์เท่านั้น เขาได้สร้างภาพวีรบุรุษและวีรสตรีเท่าขนาดคนจริงมีอิริยาบถแตกต่างกันและเปลือยกายแสดงความงามของเรือนร่างตามคตินิยมทางศิลปะของกรีกและโรมันและจัดพื้นที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตในแบบต่าง ๆ ตามทัศนะของเพลโต จุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่การวาดภาพมนุษย์ซึ่งมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับพระเจ้าเพราะเขาต้องการเน้นคุณค่าและยกย่องในความเป็นมนุษย์ตามหลักทฤษฎีของนีโอ-เพลโตนิค ใช้การระบายสีแบบเฟรสโกหรือการระบายสีในขณะผนังปูนยังเปียก เมื่องานนี้เสร็จลงเขากลับมาสลักรูปหินอ่อนศาสดาพยากรณ์และรูปทาสที่ค้างไว้ในงานสร้างสุสานสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 ซึ่งคอนโดวิดินักประวัติศาสตร์ขนานนามว่า “สุสานแห่งโศกนาฏกรรม” เพราะสร้างความยุ่งยากมากจนเมื่อเขาถึงแก่กรรมผลงานนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ปี ค.ศ. 1516 สันตะปาปาเลโอที่ 10 ซึ่งรับตำแหน่งจากสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 ได้ให้เขาออกแบบตกแต่งหอสวดมนต์ในวัดซานโลเร็นโซ ในปี ค.ศ. 1527 จักรพรรดิชาร์ลที่ 5 ทรงเข้ายึดกรุงโรมและจับองค์สันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 คุมขังทำให้เมืองฟลอเรนซ์เกิดจลาจล ในปี ค.ศ. 1530 กองทัพจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 พ่ายแพ้ทำให้ไมเคิลแอนเจโลซึ่งอยู่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐมีความผิดด้วยแต่สันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงอภัยโทษและเสนอให้สร้างงานในวัดซานโลเร็นโซต่อไปจนเสร็จ ปี ค.ศ. 1534 สันตะปาปาปอลที่ 3 ดำรงตำแหน่งสืบต่อทรงเปิดโอกาสให้เขาวาดภาพในหอสวดมนต์ซีสติเน่ เขาลงมือวาดภาพเมื่อปี ค.ศ. 1536 โดยนำเรื่องราวจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ตอน “การตัดสินครั้งสุดท้าย (The Last Judgment)” ช่วงที่กำลังวาดภาพนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาอย่างหนักจึงส่งผลให้ภาพนี้แสดงถึงความดิ้นรนของชีวิตอันทุกข์ยาก มีการสร้างภาพให้เกิดความเกรงกลัวในการประพฤติผิดและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดี ภาพคนส่วนใหญ่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์อยู่ในห้วงทรมาน ในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1541 เขาได้รับงานวาดภาพเฟรสโก้บนผนังหอสวดมนต์เปาลีเนขององค์สันตะปาปาปอลที่ 3 ในวาติกันเช่นเดียวกับซีสติเน่ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการอุทิศตนเองเพื่อศาสนาของเซนต์ปีเตอร์กับเซนต์ปอล แต่ภายหลังได้มีจิตรกรหลายคนแก้ไขทำให้เหลือภาพส่วนที่เป็นฝีมือของไมเคิลแอนเจโลเพียงเล็กน้อย ต่อมาในปี ค.ศ. 1546 ไมเคิลแอนเจโล ในวัย 71 ปี ได้รับการทาบทามเชื้อเชิญให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานปนิกควบคุมการก่อสร้างโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ เขามีจุดประสงค์ให้โบสถ์นี้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา แสดงถึงความมีเอกภาพ ความสงบ ความหวังและมั่นคง เป็นศูนย์กลางแห่งการรวมวิญญาณของชาวคริสเตียนทั้งหมด โบสถ์เซนต์ปีเตอร์นับเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอื่น ๆ โดยเฉพาะโดม เห็นได้จากในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เป็นสมัยแห่งการล่าอาณานิคม หลายประเทศได้ก่อสร้างโดมตามแบบสถาปัตยกรรมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ ผลงานบั้นปลายชีวิตของไมเคิลแอนเจโลเพิ่มอารมณ์แห่งความกดดันและเศร้าหมองมากขึ้น สันตะปาปาปอลที่ 4 ทรงให้ออกแบบก่อสร้างรอบอนุสาวรีย์จักรพรรดิ ทราจันและดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการวางผังเมืองของกรุงโรม ในปี ค.ศ. 1569 เจ้าชายโคสิโมที่ 1 ยอมรับแบบวัดเซนต์จอห์นที่จะสร้างในกรุงโรม และปี ค.ศ. 1561 เขาได้ลงนามให้ก่อสร้างประตูปอร์ตา ปิอา จวบจนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ไมเคิลแอนเจโลในวัย 89 ปี ได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านพักที่มาเซล เด คอร์วี่ ในกรุงโรม มีการนำร่างของเขาไปที่โบส์ถซานตา โกรเซ เมืองฟลอเรนซ์ เขาได้ทิ้งค้างผลงานสุดท้ายไว้ซึ่งมีชื่อว่า ปิเอตา รอนดานินี่

ไมเคิลแอนเจโลกับอุดมคติในการสร้างงาน
ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีศูนย์กลางครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ต่อมาได้ย้ายมาที่กรุงโรม ผลงานส่วนมากสร้างขึ้นตามแนวคตินิยมในลัทธิปรัชญานีโอ-เพลโต มีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการแสดงออกอยู่ที่ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ตามอุดมการณ์ของลัทธิมนุษย์ธรรมนิยม ให้ความสำคัญของปัจเจกชนทั้งทางด้านเสรีภาพในการคิดและการกระทำ มิได้มุ่งอยู่แต่ในเรื่องของความเป็นจริงเท่าที่สภาพชีวิตทั่วไปเผชิญอยู่ หากแต่คำนึงถึงความจริงแท้ในมโนคติ ตามหลักคิดของเพลโตส่วนในปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับทางศิลปะโดยตรงของเพลโตนั้นเชื่อว่า ความงามที่เราสัมผัสได้นั้นเป็นเพราะความงามนั้นได้สะท้อนจำลองมาจากความงามอันสูงสุด เป็นความงามมาตรฐานที่มีอยู่เพียงในมโนคติ ซึ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นความงามสากลอันเป็นแม่แบบแห่งความงามทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก ถ้าปราศจากความงามสากลนี้แล้ว ย่อมไม่มีความงามที่เราสามารถสัมผัสได้
ไมเคิลแอนเจโลได้นิพนธ์บทกวีไว้บทหนึ่งความว่า “ ความงามทุกอย่างที่มนุษย์ผู้มีการรับรู้เห็นได้ในโลกนี้ ย่อมมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีแหล่งกำเนิดจากสวรรค์ ซึ่งเราทั้งหลายได้มาจากที่นั้น ” จะเห็นได้ว่าศิลปะในทุกสาขาของสมัยเรนาซอง ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์จะมีครรลองแสดงออกถึงความงามเช่นดียวกับที่ปรากฏในจิตรกรรมหรือประติมากรรม เมื่อต้องการจะกล่าวพรรณนาชมหญิงสาวสุดสาวคนใดคนหนึ่ง ต่างก็จะร่ายในท่วงทำนองที่คล้ายกัน จิตรกรรมและประติมากรรมเองก็ได้แรงดลใจไม่น้อยจากกวีนิพนธ์มากเสียยิ่งกว่าจะนำมาจากธรรมชาติโดยตรง หรือมาจากความรู้ในประวัติศาสตร์
สถาบันศิลปะที่เจ้าชายโลเร็นโซให้การอุปถัมภ์อย่างดีนั้น ได้ทุ่มเทความมานะพยายามศึกษาค้นคว้าและสนับสนุนให้สร้างงานตามอุดมคติ นีโอ-เพลโตนิค อย่างเต็มที่ โดยนำรูปแบบจากศิลปกรรมกรีกและโรมันมาศึกษาเป็นแม่บท ทำให้ฟลอเรนซ์เป็นศูนย์กลางสำคัญของวงการศิลปะในเวลาอย่างรวดเร็ว ศิลปินฟลอเรนซ์ต่างมีงานทำอย่างล้นมือ ในบางโอกาสอาจไปมีหน้าที่เป็นผู้กำกับเวทีการแสดงอีกด้วย
ทั้งไมเคิลแอนเจโลและเลโอนาร์โดดูจะไม่ค่อยพึงพอใจในสภาพบรรยากาสเหล่านี้เท่าใดนัก บุคคลทั้งสองพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว เลโอนาร์โดมุ่งความสนใจแสวงหาความจริงและความงามในมโนคติทางวิทยาศาสตร์ ส่วนไมเคิลแอนเจโลค้นหาความจริงและความงามในแบบฉบับลัทธิปรัชญาของเพลโตอย่างสมบูรณ์แบบ นำทั้งหมดมาปรุงแต่งรวมแสดงออกเป็นพลังอำนาจของความเป็นมนุษย์ความงามในความหมายกว้างมีอยู่สองแบบด้วยกัน กล่าวคือ เป็นความงามตามธรรมชาติกับความงามที่ได้รับการปรุงแต่งกลั่นกรอง ไมเคิลแอนเจโลได้ยึดทั้งสองแบบนอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมสอดแทรกความงามทางศีลธรรมเข้าไปเพราะเขาเชื่อว่าความงามเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ จากแนวคิดนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในภาพ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ที่ผนังในหอสวดมนซิสติเน่ ซึ่งแฝกความงามในธรรมชาติร่างกายของมนุษย์และความงามทางศีลธรรมตามหลักคริสต์ศาสนาผสมเข้ากับลัทธิมนุษยธรรมอย่างลึกซึ้ง
ไมเคิลแอนเจโลถืองานวาดเส้น ( Drawing ) นอกจากจะมีความสำคัญที่เส้นได้แสดงลีลาแล้ว แสงเงาและความมีเอกภาพของรูปทรงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า จากการที่เขามีความคิดเช่นนี้อาจเป็นเพราะมีความหลงใหลในงานประติมากรรม จนกระทั่งนำหลักสำคัญของประติมากรรมสดใส่ในผลงานศิลปะทุกอย่าง ส่วนการประติมากรรมตามทัศนะของไมเคิลแอนเจโลนั้น ถือว่ามีเรื่องราวและคุณค่าพิเศษเฉพาะตน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาและวัสดุ ไมเคิลแอนเจโลดูจะเชื่อมั่นในอำนาจภายในอันเร้นลับ จนกระทั่งสามารถเสกบันดาลสิ่งต่างๆให้มีอิทธิฤทธิ์ได้ เกล่าวว่า “การเลียนแบบภาพอันน่าเคารพของพระเจ้า ศิลปินไม่เพียงแต่เป็นครูหรือผู้แนะนำที่ดีเท่านั้น หากแต่พวกเขาจำเป็นต้องมีชีวิตที่ดีหรือแม้แต่จะต้องทำตนเป็นนักบุญ เพื่อวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์จะได้ดลบันดาลให้พวกเขาเกิดพุทธิปัญญา” ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ตลอดชั่วชีวิตอันยาวนานของไมเคิลแอนเจโล เขาได้ดำเนินชีวิตด้วยควาสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีเรื่องผิดใดๆให้ด่างพร้อย เขายินดีที่ทุ่มเทพลังทั้งหมดในผลงาน ปฏิเสธที่จะมีผู้ช่วยหรือลูกมือในการทำงาน เขายอมวาดภาพขนาดมหึมาเพียงคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว สลักหินอ่อนด้วยค้อนและสิ่วอย่างเดียวดาย เขาทำงานด้วยสมาธิอันแน่วแน่ดุจนักพรตผู้มีตะบะอันแรงกล้า
ประติมากรรมหินสลัก “ปิเอต้า” นับเป็นตัวอย่างที่ดีอีกชิ้นหนึ่งได้รวมเอาหลักการในความงานตามหลักปรัชญาลัทธินีโอ-เพลนิคกับคริสต์ศาสนาเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม โดยมีเรื่องราวเนื้อหาจากพระคัมภีร์ ส่วนกรรมวิธีและการแสดงออกถึงความงามเป็นไปตามแบบศิลปะกรีกและโรมัน เช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมเพดานในหอสวดมนต์ซิสติเน่ เขาได้สร้างภาพบุคคลสำคัญของคริสเตียนเคียงข้างกับบุคคลสำคัญในตำนานเทพนิยายกรีกอย่างไม่เคอะเขิน ภาพ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” บนผนังในสถานที่แห่งเดียวกัน เขาได้วาดภาพคนเปลือยไว้อย่างมากมาย แสดงความงามตามอุดมคติของกรีกและโรมัน นอกจากจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้กล่าวมาแล้ว ในสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบก็มีอยู่อย่างสมบูรณ์เช่นกัน นับตั้งแต่โดมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ เสาหินขนาดยักษ์ที่รองรับน้ำหนักมหาศาลของโดม ภายในโดมเมื่อมองขึ้นไปจะเห็นโครงสร้างที่ทำเป็นวงกลมสลับซับซ้อนดุจวงแหวนเรียงรายเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นเปรียบเสมือนชั้นของสรวงสวรรค์ ไมเคิลแอนเจโลได้นำสวรรค์ในคตินิยมของคริสต์ศาสนามาแสดงกับอาคารสำคัญทางศาสนา เพราะครั้งหนึ่งในอดีต อาดัมและอีฟชายหญิงคู่แรกของโลกได้ประพฤติบาปจึงได้ถูกขับออกจากสวรรค์ และมนุษย์ปัจจุบันได้สูญเสียมันไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่ทุกคนก็ยังมีความใฝ่ฝันที่จะกลับคืนสถานที่นี้อีก บนช่องสุดของโดม เขาได้ทำช่องปล่อยให้แสงสว่างเข้ามา เปรียบประดุจดังแสงสว่างจากการประทานของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ยังทรงมีพระกรุณาเมตตาปราณีต่อมวลมนุษย์ อยู่ตลอดกาล

ประวัติราฟาเอล




ราฟาเอล (ภาษาอิตาลี: Raffaello Sanzio, ภาษาอังกฤษ: Raphael, พ.ศ. 2026-2063) มีชื่อเต็มว่า “ราฟาเอลโล ซันซิโอ” เป็นจิตรกรชาวอิตาลีที่มีอาวุโสน้อยที่สุดในบรรดาจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยมีอายุน้อยกว่าเลโอนาร์โด ดา วินชี 31 ปีและอ่อนกว่ามีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี 8 ปี เมื่อ พ.ศ. 2051 ราฟาเอลได้เดินทางไปยังเมืองฟลอเรนซ์เพื่อศึกษางานของเลโอนาร์โด ดา วินชีและของ มีเกลันเจโล ต่อมาในปี พ.ศ. 2055 ได้ไปอยู่ที่กรุงโรมและพากเพียรเขียนภาพเพื่อให้ทัดเทียมกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านที่เขายกย่อง ราฟาเอลได้เขียนจิตรกรรมฝาผนังหลายชิ้นในนครวาติกัน ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานขั้นสูงสุดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่สามารถรวมเอาความสงบนิ่งไว้กับความสมดุลได้อย่างกลมกลืน ราฟาเอลได้รับการแต่งตั้งเป็นสถาปนิกผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในปี พ.ศ. 2057 และมีส่วนในการวางผังเมืองกรุงโรม

ภาพเขียน ลา ฟอร์นารินาโดยราฟาเอล
งานจิตรกรรมของราฟาเอลในระยะหลังมีความเรียบง่ายและมีความใหญ่โตมากขึ้น แต่ยังคงรักษาความมีชีวิตชีวาของงานยุคต้นของตนเองไว้ได้ งานของราฟาเอลที่แสดงถึงความงามของผู้หญิงนับได้ว่าเป็นผลงานที่มีอิทธิพลต่อศิลปินกลุ่ม สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกรีกโรมัน (Neo-Classical architecture) เป็นอย่างมาก

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552




ประวัติศิลปะ


เลโอนาร์โด ดา วินซี : Leonardo da Vinci

เกิด วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1452 ที่แคว้นทัสคานี (Tuscany) เมืองวินชี (Vinci) ประเทศอิตาลี (Italy)เสียชีวิต วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1519 ที่เมืองอัมบัวส์ (Amboise) ประเทศฝรั่งเศส (France)ผลงาน - ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของมนุษย์ - สร้างประตูน้ำแบบบากมุม 45 องศา (Mitre Lock Gate) - ออกแบบเครื่องมือหลายชนิด เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรืองท้องแบน เรือดำน้ำ เครื่องแต่งกายมนุษย์กบและปืนกล เป็นต้น - ประดิษฐ์เครื่องดนตรี 21 ชนิด ได้แก่ พิณ และ วิโอล่า - ประดิษฐ์ไฮโกรมิเตอร์
เลโอนาร์โดไม่ได้เป็นเพียงจิตรกรเอกของโลกเท่านั้น เขายังมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนง ได้แก่ ดาราศาสตร์คณิตศาสตร์ และชีววิทยา และการออกแบบประดิษฐกรรมใหม่หลายอย่าง ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของเขาส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ และเป็นพื้นฐานของสิ่งประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ เป็นต้น ผลงานที่สำคัญที่สุดของเขาน่าจะเป็นการบุกเบิกเรื่องการบินเป็นคนแรก ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สามารถขึ้นบินได้สำเร็จก็ตาม แต่ก็มีส่วนพัฒนางานด้านนี้ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในยุคเดียวกันกับเขาไม่มีผู้ใดเลยที่ให้ความสนใจ เลโอนาร์โด เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1452 ที่แคว้นทัสคานี เมืองวินชี ประเทศอิตาลี บิดาของเขาเป็นนักกฎหมายชื่อว่า เปียโร เลโอนาร์โด (Piero Leonardo) เลโอนาร์โดมีความสนใจเรื่องวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก เขามักวาดภาพเหมือนสัตว์ต่าง ๆ ที่เขาได้เก็บสะสมไว้ เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก งู หนอน ค้างคาว มอด และตั๊กแตน เป็นต้น เขามีพรสวรรค์ในการวาดภาพ และฉายแววให้เห็นมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาในปี ค.ศ. 1466 ครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมื่อเลโอนาร์โดอายุได้ 18 ปีบิดาของเขาได้ส่งเขาไปทำงานในห้องปฏิบัติงานศิลปะของศิลปินผู้มีชื่อเสียง อันเดรีย เวอร์รอกคิโอ ซึ่งทำให้เลโอนาร์โดมีความชำนาญในเรื่องการวาดรูป อีกทั้งความสามารถในเรื่องการหล่อสำริดเพิ่มขึ้นอีกด้วย เลโอนาร์โดได้ฝึกฝนศิลปะอยู่ที่นี่เป็นเวลา 6 ปีและในปี ค.ศ. 1472 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของสโมสรช่างแห่งเซนต์ลุก ซึ่งเป็นสมาคมของพวกจิตรกร นอกจากงานศิลปะแล้วเลโอนาร์โดยังให้ความสนใจในเรื่องคณิตศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย ด้วยความสามารถทางด้านศิลปะของเลโอนาร์โด ทำให้เขาวาดภาพเหมือนของโครงสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ สัตว์ และพืช ได้อย่างเหมือนจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษามาก เลโอนาร์โดได้ศึกษาโครงสร้างของมนุษย์จากศพมากกว่า 30 ศพ เขาได้ผ่าศพเหล่านี้เพื่อศึกษาระบบการทำงานของร่างกาย กล้ามเนื้อ รวมถึงการไหลเวียนของโลหิตด้วย จากการศึกษาอย่างละเอียด เขาสามารถอธิบายถึงวิธีการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เขาเข้าใจถึงโครงสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ได้อย่างละเอียด อีกทั้งเขาได้วาดภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไว้อย่างละเอียด งานของเลโอนาร์โดชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานของวิชากายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยาเลยก็ว่าได้ ในส่วนของเรื่องพืช เขาได้ทำการทดลองปลูกพืชน้ำและพบว่าวงแหวนที่เป็นชั้น ๆ ในลำต้นพืช เป็นตัวบ่งบอกถึงอายุของพืช หรือที่เรียกว่า วงปี ในปี ค.ศ. 1482 เลโอนาร์โดได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงลูโดวิโก อิล โมโร (Ludovico il Moro) ดยุคแห่งมิลาน (Duke of Milan) โดยความช่วยเหลือของลอเรนโซ เดอ เมดิซี เลโอนาร์โด ภายในจดหมายฉบับนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถ และอาวุธสงครามที่เขาออกแบบขึ้น ได้แก่ 1. ร่มชูชีพ โดยใช้ผ้าผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 13 หลา ใช้เชือกผูกมุมทั้ง 4 ไว้ ส่วนทางปลายเชือกอีกข้างหนึ่งใช้จับเวลา กระโดดลงมาจากที่สูง 2. เครื่องร่อน เลโอนาร์โด สังเกตจากลักษณะของนก แล้วนำมาปรับปรุงเป็นเครื่องร่อน 3. เฮลิคอปเตอร์ โดยใช้ใบพัดขนาดใหญ่หมุนด้วยความเร็วสูง ซึ่งเขาไม่ได้สร้างเพียงแต่ออกแบบไว้เท่านั้น 4. เรือกล ซึ่งใช้ล้อหมุนพาย แทนคนพาย ซึ่งมีความเร็วถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง 5. หน้าไม้ยักษ์ อยู่บนรถเข็น 6 ล้อ 6. ปืนกล มีลำกล้องเรียงเป็น 3 แถว ๆ ละ 11 กระบอก รวมทั้งหมด 33 กระบอก โดยใช้ยิงทีละแถว เมื่อแถวแรกหมดก็ นำแถวที่ 2 และ 3 ออกมาใช้ การที่ต้องทำเช่นนี้เพราะปืนในสมัยนั้นบรรจุลูกได้เพียงกระบอกละ 1 นัด เท่านั้น 7. เรือขุด ใช้หลักการเหมือนกับระหัดเกลียวของอาร์คิมีดีส 8. รถถัง มีลักษณะเป็นรถหุ้มด้วยทรงกรวยคว่ำ ด้านล่างติดปืนไว้โดยรอบ 9. เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์ในปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงออกแบบ ให้ใช้แรงคนในการหมุนใบพัดขนาดใหญ่ 10. ปั้นจั่น เป็นเครื่องผ่อนแรงใช้สำหรับยกของหนัก 11. เรือดำน้ำ เขาได้ศึกษาเรื่องนี้มาจากปลา 12. รถถัง มีลักษณะคล้ายกับหัวลูกปืน และรอบ ๆ รถมีปืนกลซ่อนอยู่โดยรอบด้วย
อาวุธที่เลโอนาร์โดออกแบบถือว่าเป็นอาวุธที่มีความทันสมัยมาก อีกทั้งเป็นต้นแบบของอาวุธในปัจจุบันด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์และรถถัง เป็นต้น แม้ว่าอาวุธบางชิ้นที่เลโอนาร์โดออกแบบจะไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น แต่ก็ถือได้ว่าผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ของเขาเป็นงานที่สร้างสรรค์อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีแผนการในการทำสงครามอีกด้วย เมื่อดยุคแห่งมิลานได้อ่านจดหมายฉบับนี้จึงเชิญเลโอนาร์โดมายังเมืองมิลาน โดยจัดการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่มิใช่ในฐานะของจิตรกรหรือนักวิทยาศาสตร์ กลับเป็นเพียงนักดนตรี และผู้จัดงานนันทนาการทั้งหลาย ซึ่งเขาได้ริเริ่มการแสดงละครสวมหน้ากาก และละครโรงขึ้น และเลโอนาร์โดต้องการให้ท่านดยุคยอมรับเขาในฐานะอื่นมากกว่า ซึ่งเขาได้ใช้ความพยายามและความสามารถที่มีอยู่เสนอผลงานต่าง ๆ อยู่เสมอ ต่อมาเมืองมิลานได้เกิดโรคระบาดขึ้น และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชาชนในเมือง ดังนั้นเลโอนาร์โดจึงได้เสนอให้ท่านดยุคปรับปรุงระบบผังเมืองใหม่เพื่อป้องกันโรคระบาดแพร่กระจาย เขาได้กระจายบ้านเรือนของประชาชนออกไป ขุดคลองเชื่อมต่อกันเพื่อประโยชน์ในการสุขาภิบาลอีกทั้งยังออกแบบถนน 2 ชั้น ซึ่งท่านดยุคเห็นชอบในข้อเสนอนี้ และสั่งให้เลโอนาร์โดเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบผังเมืองใหม่ นี้ด้วย ต่อมาท่านดยุคมีโครงการจะสร้างอนุสาวรีย์ของบรรพบุรุษของท่าน คือ ดยุคฟรานเชสโก สฟอร์ซา (Francesco Sforza) ในลักษณะขี่ม้าขนาดสูงถึง 29 ฟุต และต้องใช้ทองสำริดหนักถึง 90 ตัน ท่านดยุคได้มอบงานนี้ให้เลโอนาร์โดเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เนื่องจากในปี ค.ศ. 1499 อิตาลีได้ทำสงครามกับฝรั่งเศส และทองสำริดที่จะใช้ในการหล่ออนุสาวรีย์ต้องนำไปใช้หล่อปืนใหญ่แทนดังนั้นเลโอนาร์โดจึงนำรูปปั้นดินเหนียวของท่านดยุคฟรานเชสโก ไปประดิษฐานไว้บริเวณหน้าประตูพระราชวังแทน แต่เมื่อทหารฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ามาภายในเมืองมิลานได้ทำลายอนุสาวรีย์นี้จนหมดสิ้น หลังจากเมืองมิลานได้ถูกฝรั่งเศสยึดครองไว้ เลโอนาร์โดได้เดินทางหลบหนีไปอยู่ที่เมืองเวนิช (Vanice) และเข้าทำงานในโครงการป้องกันภัยทางทะเลให้กับชาวเมืองเวนิช ซึ่งในขณะนั้นกำลังถูกโจมตีจากพวกเติร์ก หรือชาวตุรกี และในการทำงานครั้งนี้เขาได้ออกแบบชุดมนุษย์กบโดยมีเครื่องครอบศีรษะ และรองเท้าที่ช่วยในการว่ายน้ำให้เร็วขึ้น หรือที่เรียกว่า ตีนกบ ซึ่งใช้กันมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้เขายังทำการค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับการบิน โดยเลโอนาร์โดได้ศึกษาเรื่องนี้จากนกและได้สร้างปีกนกขนาดใหญ่ขึ้น โดยเลียนแบบจากปีกที่ทำหน้าที่ในการบินของนก โครงของปีกทำด้วยไม้และบุด้วยผ้าบาง ๆ และขนสัตว์ เมื่อสร้างสำเร็จเขาได้นำไปทดลองขึ้นบินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อขึ้นบินโดยลูกศิษย์ของเขา โซโรอาสเต เดอ เปเรโตโล ปรากฏว่าไม่สามารถบินได้และตกลง ทำให้เปเรโตโลได้รับบาดเจ็บขาหัก เลโอนาร์โดอยู่ที่เมืองเวนิชได้ไม่นานก็เดินทางไปเมืองฟลอเรนซ์ ในระหว่างนี้เขาได้รับความลำบากในเรื่องเงินทองอย่างมาก ซึ่งทำให้เขาต้องรับจ้างวาดภาพเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เขาได้สร้างผลงานทางด้านศิลปะอันทรงคุณค่าของเขาทั้ง 2 ชิ้น ได้แก่ ภาพอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ในระหว่างปี ค.ศ. 1495 - 1497 บนฝาผนังยาว 30 ฟุต สูง 14 ฟุต ของโบสถ์ซานตา มาเรีย เดลลา เกรซี (Santa Maria Della Grazie) ด้วยสีฝุ่นผสมน้ำมันลงไปขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ ซึ่งเขาเพิ่งทดลองเขียนเป็นครั้งแรก ภาพนี้เป็นภาพเกี่ยวกับพระเยซูพร้อมกับสาวก 12 คน ขณะรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายอยู่ ต่อมากษัตริย์ ์ฝรั่งเศสได้ทรงทอดพระเนตรภาพนี้และรู้สึกประทับใจมากและมีคำสั่งให้นำภาพนี้กลับฝรั่งเศสด้วย ปัจจุบันภาพนี้แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกภาพหนึ่งเขาวาดในปี ค.ศ. 1500 ชื่อว่า โมนา ลิซ่า (Mona Lisa) หรือลาโจคอนดา ซึ่งเป็นชื่อของหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นแบบในการ วาดรูป ภาพนี้เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน เป็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีรอยยิ้มอันน่าประทับใจ นอกจากงานทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้ว เลโอนาร์โดได้สร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกหลายชิ้น ได้แก่ ผลงานทางด้านดาราศาสตร์ เขาถือได้ว่าเป็นนักดาราศาสตร์คนหนึ่งที่เชื่อถือในทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งคนในยุคนั้น ยังเชื่อถือในทฤษฎีของอาริสโตเติลที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เลโอนาร์โดได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เรียกว่า ไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer) ใช้สำหรับวัดความชื้นในอากาศ และตาชั่งอีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบ พลังงานไอน้ำ เขาได้ทำการทดลองโดยการนำภาชนะใส่น้ำแล้วผิดสนิทและนำไปต้ม ผลปรากฏว่าภาชนะนั้นระเบิดออกมาด้วยแรงดันของไอน้ำ ในปี ค.ศ. 1506 เลโอนาร์โดได้รับเชิญจากพระราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 (King Louis XII) แห่งฝรั่งเศส ให้ดำรงตำแหน่งวิศวกร และจิตรกรประจำราชสำนัก ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเลโอนาร์โดได้พำนักในคฤหาสน์แห่งหนึ่งในเมืองอัมบัวส์ ของกษัตริย์ฝรั่งเศสองค์ใหม่ พระเจ้าฟรังซัวส์ที่ 1 (King France I) ในปี ค.ศ. 1518 เขาได้ล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตที่แขนขวาและเสียชีวิตในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1519 ที่เมืองอัมบัวส์ ประเทศฝรั่งเศส


To unsubscribe from this newsletter please visit http://www.americanscientist.org/template/EnewsUnsubscribe?memberid=null&issueid=2571 and follow the instructions